ครั้งที่ 7 อรหันต์อธิบายว่าเพราะเหตุใดธรรมวิถีแห่งการสวดพุทธนามจึงบำเพ็ญสำเร็จง่าย

ปีเจี๋ยจื่อ เดือน 3  วันที่ 25  ค.ศ.1984 (ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2527)พระพุทธจี้กง  ประทับทิพยญาณ

คนบนโลก แห่งความเสื่อม ทุกคนต่าง หลุดพ้นได้

พุทธนาม สวดง่ายๆ ไม่สับสน โปรดทุกคน เสมอกัน

เป็นวิถี ที่สะดวก ปกโปรดคน ทุกชนชั้น

เที่ยวจาริก เขียนประพันธ์ หนังสือดี มาผูกบุญ

 

พุทธจี้กง : ฮ่าๆ ! แต่ก่อนอาตมาสอนให้คนบำเพ็ญพุทธจิตโดยตรง สำเร็จเป็นพุทธะโดยตรง  คิดไม่ถึงว่าในโลกแห่งความเสื่อมนี้  ปัจจุบันคนที่มีรากแห่งปัญญานั้นช่างน้อยเหลือเกิน  มิสู้การสวดพุทธนามที่สามารถโปรดทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน  ไม่ว่าคนแก่  เด็ก ผู้ชาย  ผู้หญิง  คนจน  คนรวย  คนสูงศักดิ์  คนต่ำต้อย  ไม่ว่าฤดูใบไม้ผลิ  ฤดูร้อน  ฤดูใบไม้ร่วง  ฤดูหนาว  คนที่งานยุ่ง  คนที่ว่างงาน  คนที่มีความทุกข์  คนที่มีความสุข  ในหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง  สามารถสวดพุทธนามได้ตลอดเวลา  ดังนั้นการสวดพุทธนามจึงเป็นธรรมวิถีที่สะดวกและเปิดกว้างอย่างแท้จริง

ไฉ้เซิง : ที่พระอาจารย์พูดมานั้นถูกต้องที่สุด  การสวดพุทธนามนั้นไม่หลอกลวงแม้แต่เด็กและคนแก่ !

พุทธจี้กง : อะไรคือไม่หลอกลวงแม้แต่เด็กและคนแก่ !

ไฉ้เซิง : ไม่ใช่สิ ! ต้องเป็น “ทุกคนยินดีปรีดิ์เปรมกันถ้วนหน้า” ต่างหากถึงจะถูก

พุทธจี้กง : ความหมายก็ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่นัก  พูดผิดไปคำหนึ่งก็สามารถทำให้ความหมายเพี้ยนไปหมดได้  การสวดพุทธนามก็เช่นกัน คำว่า “唸 เนี่ยน”  กับคำว่า  “念 เนี่ยน”  ที่แปลว่า “สวดท่อง”   2 คำนี้เขียนต่างกันไม่มาก  อ่านออกเสียงเหมือนกัน  แต่ตัวอักษรทั้ง 2 ตัวนี้มีความหมายซ่อนแฝงที่ไม่เหมือนกัน

ไฉ้เซิง : ไม่เหมือนกันยังไงครับ ?

พุทธจี้กง : คำว่า “唸 เนี่ยน”  ที่แปลว่า “สวดท่อง”  เป็นเพราะข้างหน้ามีคำว่า “口 โข่ว”  ที่แปลว่า “ปาก”  ถ้าหากอ่านแยกคำกันจะได้คำว่า “口念 โข่วเนี่ยน”  ที่แปลว่า “ปากสวด”  ปากสวดหรือการสวดด้วยปากนี้  ยังสามารถแบ่งวิธีการสวดออกเป็น 4 วิธี คือ

1. สวดแบบวัชระ - การสวดแบบวัชระก็คือใช้ปากสวดแต่ไม่ออกเสียง

2. สวดแบบนับจำนวน - มือนับลูกประคำ อาจจะสวดแบบออกเสียงหรือไม่ออกเสียง

3. สวดแบบออกเสียงเบาๆ - สวดเสียงเบาๆแค่พอให้ตัวเองสามารถได้ยินเอง

4. สวดแบบออกเสียงดังๆ - คือการสวดเสียงดังแบบทำวัตรเช้าเย็น หรืออาจจะช่วยสวดให้คนที่กำลังใกล้จะตาย  โดยการสวดจะสวดเสียงดังเพื่อให้คนอื่นได้ยิน

ส่วนคำว่า “念 เนี่ยน”  ที่แปลว่า “สวดท่อง”  เป็นเพราะไม่มีคำว่า “口 โข่ว”  ที่แปลว่า “ปาก”  อยู่ข้างหน้า  ดังนั้นจึงเรียกว่า “ใจสวด”  การใช้ใจสวดก็มี 4 วิธี คือ

1. สวดเงียบๆในใจ - สวดแบบปากไม่ขยับ สวดในใจเงียบๆ

2. สวดภาวนาขณะที่นอนหลับ - ระลึกไว้ในใจตลอดเวลาขณะที่กำลังนอนหลับ

3. สวดภาวนาขณะที่นั่งกรรมฐาน - ภาวนาไว้ในใจขณะที่นั่งสมาธิ

4. สวดไล่ท้าย - สวดในใจแบบรวดเร็วติดต่อกันโดยไม่เว้นช่องว่าง สวดจบ 1 คำ ก็ตามด้วย 1 คำทันทีต่อไปเรื่อยๆไม่เว้นช่วง

ดังนั้น ไม่ว่าจะสวดแบบออกเสียง หรือสวดแบบไม่ออกเสียง ที่สำคัญที่สุดคือ ในใจจะต้องสวดพุทธนามเงียบๆตามไปด้วยเสมอ

ไฉ้เซิง : คิดไม่ถึงว่าการสวดพุทธนามจะสามารถแบ่งเป็นหลายวิธีเช่นนี้

พุทธจี้กง : ดังนั้นธรรมวิถีแห่งการสวดพุทธนามจึงง่ายที่สุด  ทำได้ทุกที่ทุกเวลา  สวดได้ทุกที่ทุกเวลา  บำเพ็ญได้ทุกที่ทุกเวลา  เพราะอะไรทำไมถึงได้สะดวกอย่างนี้  นั่นก็เพราะว่าคนที่สวดพุทธนามไม่ต้องอยู่ภายในอาณาจักรธรรม ก็สามารถเอากายของตัวเองเป็นอาณาจักรธรรมได้  จิตที่สวดพุทธนามก็คือตัวจริงของตัวเอง  ตัวจริงของตัวเองทุกๆวันก็บำเพ็ญอยู่ในอาณาจักรธรรมของตัวเอง  สะดวกมากๆเลยจริงไหม ?

ไฉ้เซิง : พระอาจารย์พูดได้ถูกต้อง

พุทธจี้กง : เอาล่ะ ! ได้เวลาแล้ว  พวกเราออกเดินทางกันเถอะ

ไฉ้เซิง : ศิษย์นั่งบัลลังก์บัวเรียบร้อยแล้ว  ขอเชิญพระอาจารย์ออกเดินทางได้

พุทธจี้กง : เบื้องหน้านั่น  พระโพธิสัตว์มารับแล้ว  ศิษย์เรารีบกราบคารวะเร็ว

ไฉ้เซิง : ผู้น้อยกราบคารวะพระโพธิสัตว์

โพธิสัตว์ : เมธีไม่ต้องมากพิธี  ลุกขึ้นเถอะ

ไฉ้เซิง : ขอบคุณพระโพธิสัตว์เมตตา

(พระพุทธจี้กงกับไฉ้เซิงและพระโพธิสัตว์  เดินทางไปแดนสุขาวดีพร้อมกัน)

โพธิสัตว์ : เบื้องหน้าก็ถึงแดนสุขาวดีแล้ว  วันนี้เราได้หาผู้ที่บำเพ็ญสำเร็จอรหัตผลท่านหนึ่งมาพูดคุยสนทนากับเจ้า  เจ้าสามารถถามเขาได้ว่าทำไมเขาถึงได้บำเพ็ญธรรมวิถีแห่งการสวดพุทธนาม

ไฉ้เซิง : ครับ

(ตอนนี้พระโพธิสัตว์ได้เรียกอรหันต์ท่านหนึ่งเข้ามา)

ไฉ้เซิง : ผู้น้อยคารวะท่านอรหันต์

อรหันต์ : เมธีไม่ต้องมากพิธี

ไฉ้เซิง : เมื่อครู่นี้พระโพธิสัตว์ได้แนะนำให้ผู้น้อยทราบว่าท่านบำเพ็ญธรรมวิถีแห่งการสวดพุทธนาม  ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดท่านจึงเลือกบำเพ็ญในธรรมวิถีนี้ ?

อรหันต์ : เมธีถามได้ดี  พุทธธรรมมี 84,000 พระธรรมขันธ์  ธรรมวิถีถึงแม้มีมากมาย  แต่ล้วนอาศัยพลังของตัวเองในการบำเพ็ญปฏิบัติ สมมติว่า  ถ้าจะบำเพ็ญในนิกายวัชรยานก็จะต้องมีเครื่องบูชาหลายอย่างในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งต้องใช้เงิน ถ้าหากบำเพ็ญในนิกายฌานก็จำเป็นที่จะต้องกระจ่างจิตแจ้งธรรมญาณ  ต้องการที่จะกระจ่างจิตแจ้งในธรรมญาณก็จะต้องมีทั้งพื้นฐานและปัญญา   ถ้าหากบำเพ็ญในนิกายโยคาจารก็จะต้องจดจำรูปและนามมากมาย  จะศึกษารูปและนามเหล่านี้ก็จะต้องอ่านหนังสือให้เยอะๆ   แต่ว่าคนที่บำเพ็ญในธรรมวิถีแห่งการสวดพุทธนามนั้นต่างกัน  เพราะว่าเพื่อฉุดช่วยเวไนยสัตว์ทั้งหลายในทะเลทุกข์ พระอมิตาภพุทธเจ้าได้ประกาศมหาปณิธาน 48 ข้อ ใน 48 ข้อมีมหาปณิธานอยู่ข้อหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าหากข้าพเจ้าตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  ขอเพียงเวไนยสัตว์ทั้งหลายเชื่อมั่นในตัวข้าพเจ้า  ศรัทธายินดีด้วยความเป็นที่สุดแห่งใจ  ปรารถนามาเกิดยังพุทธเกษตรของข้าพเจ้า แล้วอุทิศบุญกุศลทั้งหมดที่ได้บำเพ็ญปฏิบัติมาเพื่อขอมาเกิดยังพุทธเกษตรของข้าพเจ้า  หรือแม้กระทั่งคนที่มีกุศลเพียงน้อยนิดในยามที่วาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงขอเพียงสวดท่องนามของข้าพเจ้า 10 ครั้ง  ถ้าหากพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มาเกิดยังพุทธเกษตรของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะไม่ขอตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ”    พระอมิตาภพุทธเจ้าผู้เปี่ยมด้วยมหาเมตตามหากรุณา มีมหาปณิธานเช่นนี้  ดังนั้นจึงสามารถสร้างแดนสุขาวดีขึ้นมาได้สำเร็จ  และที่ยิ่งไปกว่านั้น  พระอมิตาภพุทธเจ้ายังได้นิรมาณกายมากมายนับร้อยพันโกฏิไปฉุดช่วยคนที่มีจิตหนึ่งใจเดียวปรารถนาจะมาเกิดแดนสุขาวดีทุกคนให้หลุดพ้น  แต่ว่าการบำเพ็ญปฏิบัติในธรรมวิถีอื่นๆนั้นไม่ใช่แบบนี้  เพราะการบำเพ็ญปฏิบัติในธรรมวิถีอื่นๆจะต้องอาศัยฝีมือความสามารถของตัวเองในการบำเพ็ญปฏิบัติ  ถ้าหากตัวเองมีกัมมาวรณ์หนัก  มีปัญญาไม่มากพอ  กลับจะทำให้เสียเวลาบำเพ็ญไปอย่างสูญเปล่า  เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงก็ยังบำเพ็ญไม่สำเร็จ  ไม่คุ้มค่าเหนื่อยเลยจริงไหม ?  ดังนั้นพระศากยมุนีพุทธเจ้าได้กล่าวไว้ในมหาไวปุลยมหาสันนิปาตสูตรว่า  เมื่อถึงยุคสัทธรรมวิปลาส (ซึ่งก็คือสมัยธรรมกาลยุคท้ายนี้) ถ้าหากมีคนที่บำเพ็ญปฏิบัติหนึ่งหมื่นล้านคน  ก็หาได้ยากนักที่จะมีสักหนึ่งคนที่สามารถบำเพ็ญได้สำเร็จ  มีเพียงการสวดพุทธนามของพระอมิตาภพุทธเจ้า  จิตหนึ่งใจเดียวมุ่งมั่นปรารถนามาเกิดแดนสุขาวดี  จึงสามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด  เจ้าต้องรู้ว่าการที่คนๆหนึ่งสามารถได้ร่างกายเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย  ถ้าหากไม่รีบฉกฉวยโอกาสตอนที่ยังมีชีวิตอยู่บำเพ็ญสัมมาธรรมให้สำเร็จ  ปล่อยโอกาสที่ได้กายมนุษย์มานี้ให้สูญเสียไป  ต่อไปภายหน้าหากได้ไปเกิดในเดรัจฉานภูมิหรือเปรตภูมิ  ถึงเวลานั้นได้สูญเสียกายมนุษย์นี้ไปแล้วแม้เพียงครั้งเดียวก็ยากนักที่จะสามารถกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก  ก็เหมือนกับคนที่ทำผิดฝ่าฝืนกฎหมาย  เมื่อถึงคราวที่ถูกจับ  ก็ได้แต่โกรธแค้นและเสียใจในภายหลังเท่านั้น  ดังนั้นเราขอแนะนำชาวโลกว่าควรจะรีบสวดพุทธนาม รีบแสวงหาทางรอด มาเกิดแดนสุขาวดี อย่าได้ลังเลสงสัยอีกต่อไปเลย

ไฉ้เซิง : ขอบคุณท่านอรหันต์ที่ชี้แนะ  ขอถามท่านอีกเรื่อง  ไม่ทราบว่าตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านบำเพ็ญอย่างไร  จึงสามารถสำเร็จมรรคผลเป็นอรหันต์  หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเช่นทุกวันนี้

อรหันต์ : โอ้ ! เมธีถามได้ดีมาก  ตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ในโลกโลกีย์  เราเป็นเพียงฆราวาสคนหนึ่งที่ไม่ได้ออกบวช  เดิมทีนั้นเราก็บำเพ็ญปฏิบัติในธรรมวิถีอื่น  เราอ่านหนังสือมามาก  อ่านพระสูตรคัมภีร์มาเยอะ  เข้าใจว่าตัวเองเป็นผู้มีปัญญามาก ก็เกิดความภาคภูมิใจ แต่ทว่าต่อมา เมื่อเราได้ไปพบกับพระเถระผู้บำเพ็ญดีท่านหนึ่ง จึงรู้ว่าท่านเป็นผู้ที่มีวิชาความรู้และเข้าถึงปัญญาในระดับสูง แต่ที่คาดคิดไม่ถึงเลยนั่นคือ ท่านบำเพ็ญโดยที่ไม่ต้องอาศัยพลังความสามารถของตัวเอง  ท่านมีเพียงจิตหนึ่งใจเดียวสวดท่องพุทธนามของพระอมิตาภพุทธเจ้า  เราจึงได้เข้าใจว่า  แท้ที่จริงแล้วปัญญาความรู้ของตัวเองนั้นมันช่างน้อยนิดซะเหลือเกิน  จากนั้นเป็นต้นมาเราก็บังเกิดจิตสวดท่องพุทธนาม  เอาบุญกุศลที่สร้างมาทั้งหมดอุทิศเพื่อขอมาเกิดแดนสุขาวดี  คนที่อยู่รอบตัวเรา  มีบางคนที่บำเพ็ญปฏิบัติในธรรมวิถีอื่น  พวกเขาต่างหัวเราะเยาะดูถูกเราว่า  “พวกฝีมือกระจอก  แค่สวดพุทธนามง่ายๆ  ใครๆก็สวดได้”   แต่ว่าคนที่หัวเราะเยาะเราเหล่านั้น  เป็นเพราะว่าพวกเขาบำเพ็ญปฏิบัติในธรรมวิถีอื่น  บุญกุศลของพวกเขาไม่พอจึงบำเพ็ญไม่สำเร็จ  สุดท้ายส่วนใหญ่ก็ถลำลงสู่หกภูมิวิถีแห่งการเวียนว่าย  น่าเสียดายจริงๆ

ไฉ้เซิง : ทำไมถึงช่างแตกต่างกันมากมายขนาดนี้หนอ ?

อรหันต์ : ก็เหมือนอย่างที่สมัยก่อนได้มีพระธรรมาจารย์ที่บรรลุธรรมแล้วท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า  สมมติว่ามีต้นไผ่อยู่ลำหนึ่ง แล้วภายในต้นไผ่ลำนี้ก็มีหนอนอยู่ตัวหนึ่งที่อยากจะออกมาจากลำไผ่ ซึ่งวิธีการนั่งวิปัสสนากรรมฐาน  ก็เหมือนการที่หนอนในลำไผ่กัดแทะปล้องไผ่ทีละปล้องๆตามแนวดิ่ง จากรากค่อยๆเจาะทะลุขึ้นไปจนถึงยอดแล้วจึงออกมาจากลำไผ่  ซึ่งต้องใช้ฝีมือความสามารถเป็นอย่างมาก  และต้องใช้เวลานาน  ส่วนวิธีการสวดพุทธนามเพื่อมาเกิดยังแดนสุขาวดีนั้น  ก็เหมือนกับหนอนในลำไผ่ที่กัดแทะปล้องไผ่โดยเจาะทะลุออกมาจากทางแนวขวาง  ซึ่งไวกว่า  ง่ายกว่า  ใช่หรือไม่ ?  จากสิ่งที่ยกมาเปรียบเทียบนี้ก็สามารถรู้ได้ว่า  ธรรมวิถีแห่งการสวดพุทธนามกับธรรมวิถีอื่นๆนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก

ไฉ้เซิง : ที่แท้เป็นเช่นนี้เอง

พุทธจี้กง : เอาล่ะ ! ดึกแล้ว วันนี้ก็พอเท่านี้เถอะ

ไฉ้เซิง : ผู้น้อยกราบลาพระโพธิสัตว์และท่านอรหันต์

โพธิสัตว์และอรหันต์ : เมธีไม่ต้องมากพิธี

อรหันต์ : วันหน้าถ้ามีโอกาสคงได้พบกันอีก

พุทธจี้กง : ศิษย์เรา นั่งบัลลังก์บัวให้ดี เตรียมออกเดินทาง

ไฉ้เซิง : ศิษย์นั่งเรียบร้อยแล้ว ขอเชิญพระอาจารย์ออกเดินทางได้

พุทธจี้กง : ถึงเซิ่งเทียนถังแล้ว  ไฉ้เซิงลงจากบัลลังก์บัว  วิญญาณกลับเข้าร่าง


ไว้ชีวิตเขาเถิด

1654918052.jpg
mindcyber
9 months ago

ใจธรรมไม่ท้อถอย

พระพุทธจี้กง

1654918052.jpg
mindcyber
1 year ago

เสื้อใหม่กับจิต

กุมารเทพเง็กฮือ ประทับบัลลังก์

1654918052.jpg
mindcyber
1 year ago

วงเวียนกรรมของสัตว์โลก ครั้งที่6

ลิงป่ากระโดดโลกเต้นมือไวเยี่ยงขโมย ไต่ไม้คว้าลมเหน็บหนาวร้องลาภหาย

1654918052.jpg
mindcyber
3 months ago
เทพเจ้าแห่งเงินทอง (ไฉซิ้ง)

เทพเจ้าแห่งเงินทอง (ไฉซิ้ง)

1654918052.jpg
mindcyber
2 years ago