ในอดีตมีเมืองใหญ่ 2 เมือง ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก พระราชาของเมืองทั้งสองต่างก็เป็นอริต่อกัน มักมีเรื่องพิพาทและส่งกองกำลังทหารเข้ารบราฆ่าฟันกันอยู่ไม่ว่างเว้น
ที่ผ่านมา เมืองหนึ่งได้อาศัยพญาช้างมากด้วยพละกำลังและเก่งกาจในการต่อสู้ ดังนั้นเมื่อออกรบคราใดก็มักเป็นฝ่ายมีชัย เหนือกว่าเสมอ เหตุฉะนี้พระราชาอีกเมืองหนึ่ง จึงทรงใฝฝันอยากจะได้พญาช้าง
เช่นนั้นบ้าง
ครั้นต่อมาไม่นาน มีชาวบ้านผู้อาศัยอยู่แถบชายป่าได้มาเข้าเฝ้าพร้อมกับกราบทูลต่อพระราชาว่า
" ข้าบาทได้พบพญาช้างเผึอกเชือกหนึ่ง ออกเที่ยวหากินอยู่แถบภูเขาใหญ่.....พระเจ้าข้า?"
เมื่อพระราชาทรงทราบเช่นนั้น ก็ทรงมีพระราชโองการป่าวประกาศออกไปว่า หากใครสามารถคล้องช้างเผือกเชือกนั้นมาถวายได้ จะพระราชทานรางวัลอย่างงาม
มีคำกล่าวว่า “ รางวัลงาม เร้าใจให้คนคว้า” ดังนั้นจึงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยรวมตัวกันขึ้นเขาไปคล้องช้าง
บรรดานายพรานนักล่าและชาวบ้านช่วยกันคล้องช้างเผือกมาถวายได้ไม่ยากเลย เมื่อองค์ราชาได้ทอดพระเนตรเห็นช้างเผือก ซึ่งมีร่างกายสูงใหญ่มหึมา ท่าทีงามสง่าเป็นที่น่าเกรงขาม ถูกต้องสมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะอันเป็นมงคลครบถ้วนสมเป็นพญาคชสาร พระองค์ดีพระทัยเป็นอย่างยิ่งทรงรับสั่งให้เจ้าพนักงานจัดสถานที่พำนักแก่พญาช้างเผือกอย่างสวยงาม พื้นห้องปูลาดด้วยพรมที่หนาและอ่อนุ่ม อาหารผลหมากรากไม้ถูกคัดสรรอย่างดีมาให้ลิ้มรส อีกทั้งยังมีนักดนตรีมาบรรเลงขับกล่อมตลอดเวลา
แต่ทว่า พญาช้างเผือกกลับยืนสงบนิ่งไม่กินไม่ดื่มไม่นอน ราวกับไม่มีความรู้สึกตอบสนองต่อความสุขใด ๆ ที่อยู่เบื้องหน้า เมื่อเจ้าพนักงานผู้ดูแลช้างนำความขึ้นกราบบังคมทูล องค์ราชาจึงรีบเสด็จมาด้วยความร้อนรนพระทัย พร้อมกับตรัสถามว่า
" พญาช้างเผือก...เหตุใดท่านจึงไม่ยอมกินไม่ยอมนอนเล่า?"พญาช้างเผือกจึงกราบทูลด้วยภาษามนุษย์ว่า
" หม่อมฉันมีพ่อแม่ที่แก่ชรามากแล้ว และดวงตาของท่านทั้งสองก็บอดสนิท หม่อมฉันถูกจับตัวมาไว้ที่นี้ พวกท่านอยู่บนภูเขาไม่มีใครหาอาหารน้ำข้าวให้ท่านกิน ไม่นานคงต้องอดตายแน่ หม่อมฉันอยู่ที่นี่จะมีแก์ใจกินดื่มและนอนหลับลงได้อย่างไร พระเจ้าข้า? "
และพญาช้างเผือกยังได้กราบทูลต่อไปอีกว่า
" เมื่อครั้งชาวบ้านและนายพรานทั้งหลายออกตามล่าตัวหม่อมฉันหม่อมฉันก็ยินยอมให้พวกเขาจับมาแต่โดยดี ถึงเวลานี้หากหม่อมฉันคิดจะไปด้วยและกำลังของหม่อมฉันที่มีอยู่ กองทหาร 1,000 นายก็ไม่อาจยับยั้งหม่อมฉันไว้ได้
แต่หากแม้นว่า วันนี้พระองค์ยอมปล่อยตัวหม่อมฉันให้ได้กลับไปปรนนิบัติดูแลพ่อแม่จนกว่าท่านจะล่วงลับแล้วล่ะก็ หม่อมฉันจะกลับมารับใช้พระองค์ อย่าง แน่นอน"
องค์ราชาได้ทรงสดับคำพูดของพญาช้างเผึอกเช่นนั้นแล้ว ก็ทรงรู้สึกซาบซึ้งสะเทือนพระทัยยิ่งนัก ทรงรำพึงว่า
“ หากจะเทียบกันแล้ว พญาช้างเผือกเชือกนึ้ก็คือ ผู้มีจิตใจสูงส่งในร่างของสัตว์ แต่คนเราเสียอีกที่เป็นพวกใจต่ำทรา มในร่างของมนุษย์ เพราะที่ผ่านมาไพร่ฟ้า ประชาราษฏร์ในบ้านเมืองของเราส่วนใหญ่ เป็นพวกอกตัญญูไม่เคยเคารพนับถือ ไม่เคยสำนึกในพระคุณพ่อแม่ครูอาจารย์และแผ่นดินบ้านเกิดเลย"
และแล้วพระราชาจึงทรงปล่อยพญาช้างเผือกไป อีกทั้งมีพระราชโองการให้ประกาศออกไปว่า
" มันผู้ใดเป็นลูกอกตัญญู ปฏิบัติต่อพ่อแม่ด้วยความไม่เคารพ ให้นำตัวมันผู้นั้นมาลงโทษสถานหนัก "
ฝ่ายพญาช้างเผือก เมื่อกลับขึ้น เขาไปแล้วก็คอยเฝ้าดูแลปรนนิบัติพ่อและแม่ ตราบจนท่านล่วงลับไป พญาช้างจึงเดินทางกลับมายังพระราชวังเพื่อรับใช้ตามสัจจวาจาที่ให้ไว้ พระราชาทรงโสมนัสยิ่ง
หนึ่งเดือนต่อมา พระราชาได้รวบรวมกำลังทหารเตรียมยกทัพออกศึกอีกครั้ง ทั้งนี้ก็เพราะ พระองค์ทรงเชื่อมั่นว่า พญาช้างเผือกจะสามารถเอาชนะข้าศึกศัตรูได้อย่างแน่นอน
เมื่อพญาช้างเผือกเห็นพระราชาเตรียมการ อย่างเร่งด่วน จึงกราบทูลว่า
" การทำสงครามไม่ใช่เรื่องดี ไม่ว่าใครแพ้ ใครชนะ ต่างก็ต้องบาดเจ็บล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย เช่นนี้แล้วยังจะรบราฆ่าฟันกันอีกทำไม ?"พระราชาทรงอธิบายว่า
“ ราชาต่างเมือง ถือว่ามีช้างศึกที่เก่งกาจสามารถ ช่วยให้กองทัพมีอานุภาพเหนือกว่า จึงได้เที่ยวรังแกข่มเหงเมืองอื่นอยู่เสมอ หากเราไม่ตอบโต้บ้าง ก็คงต้องถูกกระทำย่ำยี จนสูญสิ้นชาติบ้านเมืองเป็นแน่"พญาช้างเผือกจึงเสนอว่า
" ถ้าเช่นนั้นให้หม่อมฉันเดินทางไปพบราชาคู่อริเพียงลำพังเถิดหม่อมฉันรับประกันว่า ต่อไปพวกเขาจะไม่กล้ามาข่มเหงรังแกพระองค์อีก"พระราชาทรงถอนพระทัย แล้วตรัสว่า
" ถ้าท่านไปแล้ว จะเอาตัวรอดกลับมาได้หรึอ?" พญาช้างเผือกกราบทูลว่า
"ขอพระองค์ทรงวางพระทัยเถิด หม่อมฉันต้องกลับมาอย่างแน่นอนเพราะผู้ใดเล่าจะมีพละกำลังมากพอที่จะยับยั้งหม่อมฉันได้"
ดังนั้นพญาช้างเผือกจึงออกเดินทางไปยังเมืองของศัตรู เมื่อพระราชาคู่อริทรงทราบว่า มีพญาช้างเผือกร่างมหึมาเข้ามาในเมืองของตน จึงรีบออกไปต้อนรับ ด้วยทรงดำริว่าหากได้พญาช้างเผือกมาเข้าร่วมด้วย กองทัพของพระองค์จะยิ่งเกรียงไกรเป็นทวีคูณจนยากที่จะมีผู้ใดต้านทานได้และแล้วพระราชาได้ทรงเกลี้ยกล่อมว่า
“ พญาช้างเผือก...ขอให้ท่านมาอยู่ด้วยกันกับเราเถิด เราจะเลี้ยงดูท่านอย่างดีเลิศทีเดียว"
พญาช้างเผือกจึงกล่าวว่า
“ หม่อมฉันไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะตั้งแต่เกิดมาหม่อมฉันยึดมั่นในสัจจะวาจาเป็นที่สุด ไม่เคยโกหกหลอกลวงหรือตบัดสัตย์ต่อผู้ใดเลย หม่อมฉันได้ถวายสัตย์ต่อพระราชาเหนือหัวของหม่อมฉันแล้ว หม่อมฉันก็จะต้องกลับไป การเดินทางมาครั้งนี้หม่อมฉันมีคำพูดจะกล่าวเพียงไม่กี่คำว่า ขอให้พระองค์เลิกล้มความคิดที่จะทำศึกสงครามรุกรานผู้อื่น ยุติความอาฆาตแค้นชิงดีชิงเด่นหันมาผูกสัมพันธ์ไมตรีอันดีต่อกัน ต่างฝ่ายต่างปกครองบ้านเมืองของตนให้ประชาราษฏร์ได้อยู่ดีมีสุขโดยถ้วนหน้าเถิด"
เมื่อพระราชาได้ทรงสดับเช่นนั้นแล้ว ก็ทรงรู้แก่ใจว่าพญาช้างเผือกเชือกนี้มีจิตใจอันเด็ดเดี่ยวมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้นำทัพมารบกับพระองค์แล้วละก็ เห็นทีจะต้องเป็นฝ่ายปราชัยย่อยยับเป็นแน่ คิดได้เช่นนี้ทรงยินยอมให้สัตย์ปฏิญาณว่า จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบ อีกทั้งจัดส่งทูตเดินทางกลับไปพร้อมกับพญาช้างเผือก เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีต่อกัน
นับจากนั้นเป็นต้นมาทั้งสองเมืองก็อยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง อาณาประชาราษฎร์ทั้งสองแผ่นดิน จึงพ้นจากภัยสงคราม ได้อยู่อย่างสุขสงบและสันติ อย่างยิ่ง