ครั้งที่ 5 พระโพธิสัตว์บรรยายขั้นตอนการสวดพุทธนามแบบสั้นและง่าย
2024-09-15 08:14:28 - mindcyber
ปีเจี๋ยจื่อ เดือน 3 วันที่ 5 ค.ศ.1984 (ตรงกับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2527) พระพุทธจี้กง ประทับทิพยญาณ
เซิ่งเทียน ปกโปรด กล่อมเกลา เกิดศิริ มงคล
คนและฟ้า เบื้องบน ร่วมทำให้ สัจธรรม ประจักษ์
สาธุชน มุ่งมั่น อีกช่วยกัน สนับสนุน เป็นหลัก
ร่วมกัน พร้อมพรัก โอบอุ้ม ธรรมกิจ ให้แพร่ไป
พุทธจี้กง : ฮ่าๆ ! มองดูเซิ่งเทียนถังเปิดสำนักธรรมได้ไม่ถึงปี แต่หนังสือธรรมะก็สามารถแพร่กระจายไปทั่วทุกเขตทุกมุมแล้ว งานธรรมเจริญรุ่งเรืองเช่นนี้ คาดไม่ถึงเลยจริงๆ เป็นเรื่องที่อัศจรรย์ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะฟ้าเบื้องบนมอบภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ให้กับเซิ่งเทียนถัง เห็นได้ว่าฟ้าเบื้องบนไว้วางใจเซิ่งเทียนถัง ต่อมาก็คือไฉ้เซิงมีความยินดีอุทิศทุ่มเทเสียสละตนเอง กลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนในสำนัก เจิงเซิงมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ยืนหยัดไม่ท้อถอย ยอมลาออกจากงานในตำแหน่งที่ได้เงินเดือนสูงเพราะไม่อยากอยู่ห่างไกลจากสำนัก ซือเซิงมีจิตวิญญาณในการให้บริการ แม้บ้านอยู่ไกลแต่เหมือนอยู่ใกล้ หลิวเซิงมีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ยอมกล้ำกลืนความอัปยศอดสูเพื่อดำเนินภารกิจอันยิ่งใหญ่ ลูกศิษย์คนอื่นๆในสำนักต่างก็มีจิตวิญญาณแห่งการอุทิศตัวรับใช้ พร้อมใจกันเป็นหนึ่งเดียว เห็นภารกิจงานธรรมในสำนักเป็นเรื่องสำคัญ นี่ก็คือหลักประกันความสำเร็จของเซิ่งเทียนถัง
ไฉ้เซิง : จำได้ว่าตอนที่เปิดสำนัก พระอาจารย์ได้พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับงานธรรมของสำนักว่า งานธรรมจะเจริญรุ่งเรืองแบบมีปาฏิหาริย์ ตอนนั้นศิษย์ยังไม่กล้าที่จะเชื่อ เพราะว่าในปีแรกก็ต้องประพันธ์หนังสือธรรมะ 12 เรื่อง ซึ่งจริงๆแล้วมันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ว่าจนถึงตอนนี้คำมั่นสัญญาของเซียนพุทธะที่เคยให้ไว้ก็เป็นความจริงอย่างที่เคยพูดไว้ไม่โกหก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์มีอภิญญายิ่งใหญ่ ความเจริญรุ่งเรืองของสำนักในตอนนี้ก็เหมือนกับว่ามีพระอาจารย์คอยควบคุมจัดการดูแลให้
พุทธจี้กง : มีความมุ่งมั่น งานก็สำเร็จ คิดถึงช่วงแรกที่เจ้าได้รับภาระหน้าที่เป็นพู่กันทรงมือเอกอยู่ที่สำนักเซิ่งเสียนถัง เจ้าต้องทนรับความลำบากมากมาย แต่ก็ยังมีจิตใจที่อุทิศทุ่มเทเสียสละเพื่องานธรรม ดังนั้นการไถคราดในอดีตก็คือผลสำเร็จในปัจจุบัน
ไฉ้เซิง : ถ้าหากเป็นเช่นนี้ นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ของเหตุต้นและผลตอบสนองที่แยบยลยิ่งนัก
พุทธจี้กง : ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า คนที่ไม่เคยผ่านอุปสรรคความยากลำบากอย่างถึงที่สุดก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จในการปฏิบัติงานธรรม คนที่ไม่เคยผ่านความเจ็บปวดเสียใจอย่างถึงที่สุด ก็ไม่สามารถได้ลิ้มรสชาติของความสุขที่แท้จริง
ไฉ้เซิง : ที่พระอาจารย์พูด เป็นคติเตือนใจให้แก่ชาวโลกได้ดีจริงๆ
พุทธจี้กง : เอาล่ะ ! วันนี้เราก็มาเริ่มประพันธ์หนังสือกันเถอะ ศิษย์เราเจ้านั่งบัลลังก์บัวให้ดีๆ
ไฉ้เซิง : ศิษย์นั่งเรียบร้อยแล้ว ขอเชิญพระอาจารย์ออกเดินทางเถอะ
พุทธจี้กง : ศิษย์เรา ! นับตั้งแต่ประพันธ์หนังสือท่องแดนสุขาวดีมานี้ เจ้ารู้สึกอย่างไรบ้าง ?
ไฉ้เซิง : รู้สึกดีครับ รู้สึกดีมากๆที่สามารถเป็นแสงสว่างนำทางให้แก่ชาวโลก ให้คนที่มีใจสามารถได้ไปเกิดยังแดนสุขาวดี
พุทธจี้กง : เมื่อหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมา จะเป็นหนังสือที่มีความล้ำค่าเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่ายังขาดของไปสิ่งหนึ่ง
ไฉ้เซิง : ของอะไรครับ ?
พุทธจี้กง : ก็ลูกประคำที่ใช้สำหรับสวดพุทธนามไง
ไฉ้เซิง : นั่นสินะ จริงๆด้วย ถ้าหากพระอาจารย์ไม่พูดขึ้นมาศิษย์ก็ไม่ได้สนใจนึกถึงเลย ศิษย์ควรทำตามความคิดของพระอาจารย์ จัดเตรียมลูกประคำแจกให้แก่ผู้มีบุญสัมพันธ์ด้วย พวกเขาจะได้สวดพุทธนามได้ง่ายขึ้น ก็หวังว่าผู้ที่มีกุศลจิตจะช่วยกันสนับสนุนลูกประคำกันเข้ามาเยอะๆ
พุทธจี้กง : ศิษย์เราเจ้าจงวางใจ ลูกประคำได้เตรียมไว้ให้เจ้าเรียบร้อยแล้ว ขอเพียงหนังสือเล่มนี้พิมพ์เสร็จเมื่อไหร่ เจ้าก็สามารถเรียกขอลูกประคำจากผู้ที่ช่วยสนับสนุนได้ไม่น้อยอย่างแน่นอน
ไฉ้เซิง : พระอาจารย์พูดเช่นนี้ ศิษย์ก็มีความเชื่อมั่นขึ้นมาแล้ว
พุทธจี้กง : ถึงแดนสุขาวดีแล้ว ศิษย์เราเจ้ารีบเข้าไปกราบคารวะพระโพธิสัตว์สิ
ไฉ้เซิง : ขอพระโพธิสัตว์โปรดรับการกราบคารวะจากผู้น้อย 1 กราบ
โพธิสัตว์ : เมธีเหนื่อยมาตลอดทางแล้ว อย่าได้มากพิธีเลย
ไฉ้เซิง : เหนื่อยอะไรที่ไหนกันครับ ไม่เหนื่อยอะไรสักหน่อย เมื่อครู่นี้พระอาจารย์จี้กงเสนอให้สำนักเราแจกลูกประคำให้แก่ผู้มีบุญสัมพันธ์ด้วย ตอนนี้ผู้น้อยขอเรียนถามพระโพธิสัตว์ ไม่ทราบว่าการสวดพุทธนามควรสวดช่วงเวลาไหนถึงจะดีที่สุดครับ
โพธิสัตว์ : ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็สามารถสวดพุทธนามได้ตลอดเวลาโดยไม่จำกัดว่าจะต้องสวดเวลาใด สะดวกมากๆ แต่ถ้าหากสามารถใช้เวลาตอนรุ่งเช้าหรือตอนค่ำสวดพุทธนามตามขั้นตอนวิธีการสวดแบบทำวัตรเช้าเย็น ก็จะดีมากเป็นอย่างยิ่ง
ไฉ้เซิง : การสวดพุทธนามตามขั้นตอนวิธีการสวดแบบทำวัตรเช้าเย็นมีวิธีสวดอย่างไรครับ ?
โพธิสัตว์ : เนื่องจากการสวดพุทธนามตามขั้นตอนวิธีการสวดแบบทำวัตรเช้าเย็นนั้นยาวเกินไป อธิบายลงในหนังสือให้เข้าใจชัดเจนไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นผู้ที่อยากศึกษาวิธีการสวดแบบทำวัตรเช้าเย็น อาจจะลองไปขอคำแนะนำจากพระธรรมาจารย์ในศาสนาพุทธดูก็ได้
ไฉ้เซิง : ถ้าหากขั้นตอนการสวดแบบทำวัตรเช้าเย็นใช้เวลามาก งั้นมีขั้นตอนการสวดแบบสั้นๆง่ายๆสำหรับคนที่งานยุ่งไม่ค่อยมีเวลาไหมครับ ?
โพธิสัตว์ : เมธีถามได้ดี เดี๋ยวเราจะแนะนำขั้นตอนการสวดพุทธนามแบบสั้นๆ ง่ายๆ วิธีหนึ่งให้คนที่งานยุ่งเอาไปดำเนินปฏิบัติ ก่อนอื่น ก่อนที่จะสวดพุทธนาม ดีที่สุดให้นำพระพุทธรูป หรือรูปภาพของพระอมิตาภพุทธเจ้า หรืออาจจะเป็นพระพุทธรูปหรือรูปภาพของสามอริยเจ้าแห่งแดนสุขาวดีก็ได้ (สามอริยเจ้าแห่งแดนสุขาวดีก็คือ พระอมิตาภพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์กวนอิน และพระโพธิสัตว์ต้าซื่อจื้อ) วางตั้งไว้บนโต๊ะพระในห้องโถง แต่ถ้าหากไม่มีห้องโถงหรือโต๊ะพระ หรืออาจจะไม่สะดวกด้วยประการต่างๆ งั้นก็วางไว้ในห้องของตัวเองก็ได้ แต่จะต้องวางไว้ในที่ๆสะอาดที่สุด พร้อมทั้งหาผ้าเหลืองมาปิดคลุมพระพุทธรูปไว้ เวลาที่ต้องการจะสวดพุทธนามก็เอาผ้าคลุมออก ประนมมือคุกเข่าเบื้องหน้าพระพุทธรูปด้วยจิตเคารพศรัทธา ถ้าหากไม่มีพระพุทธรูปก็ให้ยืนหันไปทางทิศตะวันตก จากนั้นประนมมือด้วยจิตเคารพศรัทธา
แล้วสวดดังนี้
南無西方極樂世界,大慈大悲阿彌陀佛
นาโม ซีฟัง จี๋เล่อซื่อเจี้ย ต้าฉือต้าเปย อาหมีถัวฝอ (คุกเข่ากราบ 1 ครั้ง)
(ขอนอบน้อมต่อพระอมิตาภพุทธเจ้าผู้เปี่ยมด้วยมหาเมตตามหากรุณาแห่งแดนสุขาวดีประจิมทิศ)
南無觀世音菩薩
นาโม กวนซื่ออิน ผูซ่า (คุกเข่ากราบ 1 ครั้ง)
(ขอนอบน้อมต่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์)
南無大勢至菩薩
นาโม ต้าซื่อจื้อ ผูซ่า (คุกเข่ากราบ 1 ครั้ง)
(ขอนอบน้อมต่อพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์)
南無清淨大海眾菩薩
นาโม ชิงจิ้งต้าไห่จ้ง ผูซ่า (คุกเข่ากราบ 1 ครั้ง)
(ขอนอบน้อมต่อชิงจิ้งต้าไห่จ้งโพธิสัตว์)
จากนั้นสวด “南無阿彌陀佛 นาโม อาหมีถัวฝอ” ไปเรื่อยๆ ร้อยคำ พันคำ ตามแต่เวลาของแต่ละคนจะเอื้ออำนวย เวลาสวดไม่จำเป็นต้องคุกเข่าก็ได้
สุดท้ายก็สวดคำอุทิศ
願生西方極樂中 เอวี้ยน เซิง ซี ฟัง จี๋ เล่อ จง
(ขอเกิดแดน ประจิมทิศ วิสุทธิภูมิ สุขาวดี)
九品蓮花為父母 จิ๋ว ผิ่น เหลียน ฮวา เหวย ฟู่ หมู่
(มีดอกบัว เก้าระดับชั้น เป็นพ่อแม่ ให้กำเนิด)
花開見佛悟無生 ฮวา ไค เจี้ยน ฝอ อู้ อู๋ เซิง
(เมื่อบัวบาน พบพุทธะ ได้ตื่นแจ้ง พ้นการเกิด)
不退菩薩為伴侶 ปู๋ ทุ่ย ผู ซ่า เหวย ปั้น หลวี่*
(มีโพธิสัตว์ ผู้ไม่เกิดความถดถอย เป็นสหาย)
(*วิธีการอ่านออกเสียงคำว่า “หลวี่” ให้ผู้อ่านย้อนกลับไปอ่านได้ในท่องแดนสุขาวดีครั้งที่ 3)
หลังจากสวดจบแล้วคุกเข่ากราบ 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี
ไฉ้เซิง : ขอเรียนถามพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ชิงจิ้งต้าไห่จ้ง คือ พระโพธิสัตว์ท่านใด ?
โพธิสัตว์ : ฮ่าๆ ! พระโพธิสัตว์ทั้งหมดในแดนสุขาวดี ก็คือ พระโพธิสัตว์ชิงจิ้งต้าไห่จ้ง
ไฉ้เซิง : ทำไมถึงเป็นแบบนี้ล่ะ ?
โพธิสัตว์ : เพราะว่าแดนสุขาวดีพุทธเกษตร ก็คือดินแดนที่มีความวิสุทธิ์สะอาดเป็นอย่างมาก ดังนั้นพระโพธิสัตว์ทั้งหมดในแดนวิสุทธิภูมินี้จึงมีนามว่า “ชิงจิ้ง” “ต้าไห่จ้ง” ก็คือพระโพธิสัตว์ในแดนสุขาวดีที่มากมายดั่งน้ำในมหาสมุทร
ไฉ้เซิง : ขอเรียนถามพระโพธิสัตว์ มีผู้บำเพ็ญธรรมส่วนหนึ่งมักจะชอบเยาะเย้ยคนที่สวดพุทธนามว่า “ปากสวดอาหมีถัวฝอแต่จิตยังคิดฟุ้งซ่าน สวดจนปากแห้งแตกสวดไปก็ไร้ประโยชน์” งั้นขอเรียนถามพระโพธิสัตว์ ถ้าหากคนที่สวดพุทธนามมีจิตหนึ่งใจเดียวสวดพุทธนาม ปรารถนามาเกิดยังแดนสุขาวดี แต่ตัวเองมีกัมมาวรณ์หนัก ก็ไม่สามารถมาเกิดแดนสุขาวดีได้ใช่หรือไม่ ?
โพธิสัตว์ : เมธี ! คำถามนี้เจ้าถามได้ดีมาก คนที่สวดพุทธนาม ถ้าหากว่าปากสวด แต่จิตใจยังฟุ้งซ่าน ขั้นแห่งการบรรลุผลก็จะอยู่ในบัวชั้นล่าง หรืออาจจะไม่ได้มาเกิดยังแดนสุขาวดีเลยก็เป็นได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความศรัทธาเชื่อมั่น ปณิธานความมุ่งมั่น และการดำเนินปฏิบัติ 3 อย่างนี้
ไฉ้เซิง : เพราะอะไรครับ ?
โพธิสัตว์ : เพราะว่า 1. “ความศรัทธาเชื่อมั่น” ความศรัทธาเชื่อมั่นก็คือแรงผลักดันของความเชื่อมั่น ความมั่นใจ พลังนี้เป็นพลังที่สำคัญที่สุดต่อผู้ที่บำเพ็ญปฏิบัติ ก็เปรียบเหมือนกับเจ้าเป็นพ่อค้าทำการค้า คิดอยากจะสั่งจองสินค้าสัก 1 ล็อตจากต่างประเทศ ถ้าหากสินค้าล็อตนี้สั่งจองกับบริษัทที่ดำเนินกิจการโดยภาครัฐ เจ้าก็จะเกิดความเชื่อมั่นกว่าสั่งจองกับบริษัทอื่นใช่หรือไม่ ? เพราะอะไรถึงเชื่อมั่นล่ะ ? ก็เพราะว่าสินค้าที่เจ้าสั่งจองกับบริษัทที่ดำเนินกิจการโดยภาครัฐนั้น ก็เปรียบเหมือนกับทำการค้ากับผู้นำของประเทศ ถ้าหากเกิดอะไรขึ้น ยังไงหนี้ก็ไม่สูญ สำหรับธรรมวิถีแห่งการสวดพุทธนามนั้น พระพุทธะได้ตรัสไว้ด้วยพระองค์เองว่า เวไนยในธรรมกาลยุคท้ายมีจิตที่เขลาหลงอย่างที่สุด มีเพียงธรรมวิถีแห่งการสวดพุทธนามที่สามารถปกแผ่ครอบคลุมอนุเคราะห์รากบุญทั้งสามระดับ ดังนั้นจึงสามารถพูดได้ว่าธรรมวิถีแห่งการสวดท่องพุทธนามเป็นวิธีบำเพ็ญปฏิบัติที่สั้นและง่ายที่สุด เพราะอะไรถึงสั้นและง่ายที่สุดล่ะ ? ก็เพราะว่าขอเพียง ใจ ปาก ความคิด มั่นคงจดจ่ออยู่กับคำว่า “อาหมีถัวฝอ” ใจของเราคิดถึง “อาหมีถัวฝอ” ปากของเราท่อง “อาหมีถัวฝอ” ความคิดของเราก็มีสติจดจ่ออยู่กับ “อาหมีถัวฝอ” ก็สามารถได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือจากพระพุทธะโพธิสัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบำเพ็ญฝึกฝนในธรรมวิถีอื่นๆ จะต้องอาศัยพลังของตัวเองเป็นอย่างมากในการบำเพ็ญฝึกฝน มีเพียงการบำเพ็ญฝึกฝนในธรรมวิถีแห่งการสวดท่องพุทธนามเท่านั้นที่อาศัยพลังของพระพุทธะ
2. “ปณิธานความมุ่งมั่น” ปณิธานความมุ่งมั่นคือแรงผลักดันของความมุ่งมาดปรารถนาและความมุ่งมั่นตั้งใจ เป็นเงื่อนไขของความสำเร็จ เจ้าลองดูคนที่ประสบความสำเร็จสิ ก่อนที่พวกเขาจะทำสิ่งใดจำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจและความมุ่งมาดปรารถนาเป็นพลังผลักดันอยู่เบื้องหลัง พวกเขาจึงประสบความสำเร็จและไม่ล้มเลิกกลางครัน
3. “การดำเนินปฏิบัติ” การดำเนินปฏิบัติก็คือการลงมือทำ วันนี้เจ้ามีความไว้วางใจเชื่อมั่นในบริษัทที่รับสั่งจองสินค้า เจ้าต้องการสินค้าเหล่านี้มาก เจ้าก็จะต้องหาเงินไปซื้อ ผู้ที่ต้องการจะมาเกิดที่แดนสุขาวดีก็เช่นเดียวกัน นอกจากจะต้องมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะมาเกิดแล้ว ยังต้องเชื่อมั่นในพระพุทธะ และที่สำคัญที่สุดจะต้องไปลงมือทำ ไปดำเนินปฏิบัติ ไปบำเพ็ญ “ทำ” ก็คือการสร้างบุญสร้างกุศล ให้ทานด้วยความยินดี “ดำเนินปฏิบัติ” ก็คือขยันหมั่นเพียรในการสวดพุทธนาม “บำเพ็ญ” ก็คือบำเพ็ญจิต บำเพ็ญปาก บำเพ็ญความคิด บำเพ็ญคุณธรรมความประพฤติ ทำให้กัมมาวรณ์ของตัวเองค่อยๆสลายไป จิตญาณนับวันก็จะยิ่งค่อยๆสว่างไสว เช่นนี้การได้มาเกิดในบัวชั้นบนก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินตัวแล้ว
ไฉ้เซิง : ได้รับความกรุณาเมตตาพร่ำสอนจากพระโพธิสัตว์ ผู้น้อยซาบซึ้งใจยิ่งนัก
พุทธจี้กง : เวลาดึกแล้ว วันนี้ก็พอเท่านี้ก่อนเถอะ
ไฉ้เซิง : ขอบคุณพระโพธิสัตว์ที่อบรมสั่งสอน โปรดรับการกราบขอบคุณจากผู้น้อย 1 กราบ
โพธิสัตว์ : เมธีไม่ต้องมากพิธี อาหมีถัวฝอ !
พุทธจี้กง : ศิษย์เราเจ้านั่งบัลลังก์บัวให้ดี เตรียมตัวกลับสำนัก
ไฉ้เซิง : ศิษย์นั่งเรียบร้อยแล้ว ขอเชิญพระอาจารย์ออกเดินทางได้
พุทธจี้กง : ถึงเซิ่งเทียนถังแล้ว ไฉ้เซิงลงจากบัลลังก์บัว วิญญาณกลับเข้าร่าง