ครั้งที่ 13 พบบรรพจารย์อธิบายหลักธรรมอันลึกซึ้ง

2024-09-15 08:21:43 - mindcyber

ปีเจี๋ยจื่อ เดือน 7 วันที่ 8 ค.ศ.1984 (ตรงกับวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2527)พระพุทธจี้กง ประทับทิพยญาณ

มหาปุริส ลักษณะ ไม่สามารถ จะยึดติด เอามาเป็น ลักษณะ

พระพุทธะ จริงหรือปลอม ไม้บรรทัด ไม่สามารถ จะวัดได้

ใจพุทธะ ปากพุทธะ จิตพุทธะ นั่นก็คือ พุทธะไง

รูปโฉมเพียง ภายนอกไม่ อาจตัดสิน ว่าใครคือ พุทธะจริง

 

พุทธจี้กง : ผู้บำเพ็ญธรรม อย่าได้ตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก  มิเช่นนั้นแล้วก็จะตกอยู่ในความอคติอันเกิดจากความยึดติด  นับตั้งแต่ธรรมกาลยุคท้ายเป็นต้นมา  ชาวโลกมีปัญญาที่ตื้นเขิน  นับวันดวงตาก็ยิ่งถูกบดบัง  มักจะมองคนเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอก  แล้วก็เอามาเคารพบูชากราบไหว้เหมือนเป็นพระพุทธะเดินดิน  ถ้าหากวันนี้อาตมาไปเดินอยู่บนถนน  ผู้คนที่พบเห็นอาตมากลับจะรู้สึกว่าอาตมาไม่ควรค่าแก่การมอง ฮ่าๆ ! พุทธะตัวจริงหรือพุทธะตัวปลอมมีแค่ลูกศิษย์ของอาจารย์รู้เท่านั้นก็พอแล้ว

ไฉ้เซิง : คำพูดประโยคนี้ของพระอาจารย์ ทำให้ศิษย์ไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ดี  ชาวโลกต่างแสวงหาแต่สิ่งล้ำค่า  แต่ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วสิ่งล้ำค่าก็อยู่ภายในจิตตน  ชาวโลกอยากบำเพ็ญธรรมแต่ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วธรรมะก็อยู่ในชีวิตประจำวัน  ชาวโลกอยากพบเจอพระพุทธะเดินดิน  แต่พระพุทธะเดินดินกลับไม่มีคนรู้จัก

พุทธจี้กง : ฮ่าๆ !  ไม่รู้จักน่ะดีแล้ว  อาจารย์จะได้มีอิสระเสรี  ก็เหมือนอย่างเจ้าไง  มีคนมาถามหาไฉ้เซิงกับเจ้า  แต่กลับไม่รู้ว่าเจ้าก็คือไฉ้เซิง

ไฉ้เซิง : พระอาจารย์หยอกเก่งจริงๆ

พุทธจี้กง : ศิษย์เรา เจ้าดูสิ ของปลอมในสมัยนี้ช่างมากมายซะเหลือเกิน  ยกตัวอย่างเช่น  ทองชุบผ่านการขัดแต่งจนเหมือนทองคำ  หินอ่อนผ่านการขัดแต่งจนเหมือนหยกชิ้นงาม  แก้วผ่านการเจียระไนจนเหมือนเพชร

ไฉ้เซิง : ฮ่าๆ ! พระอาจารย์ก็เหมือนกับดวงแก้วมณีของแท้ ที่ภายนอกถูกฝุ่นละอองปกคลุมซ้อนเป็นชั้นๆ  ใครเล่าจะรู้จัก

พุทธจี้กง : งั้นอาจารย์ให้เจ้ายืมก็แล้วกัน

ไฉ้เซิง : งั้นศิษย์จะเอาดวงแก้วมณีดวงนี้มาเช็ดถูให้สะอาด  แล้วเอามาใช้ส่องสว่างให้แก่ชาวโลก  โน้มนำผู้มีบุญสัมพันธ์ให้เดินเข้าสู่มหาธรรมอันสว่างไสว

พุทธจี้กง : ตอนนี้เจ้าก็กำลังใช้มันอยู่ไม่ใช่รึ ?

ไฉ้เซิง : ใช่ครับ ขอบคุณพระอาจารย์

พุทธจี้กง : คิดไม่ถึงว่าเจ้าจะมีเมตตากรุณา  ไม่เก็บดวงแก้วมณีไว้ใช้เพียงคนเดียว  แต่ยังใช้มันส่องสว่างนำทางให้แก่ผู้อื่นด้วย  ขอเพียงเจ้ามีวิธีคิดแบบนี้ก็พอแล้ว  ตอนนี้เริ่มออกเดินทางกันเถอะ

ไฉ้เซิง : ศิษย์นั่งบัลลังก์บัวเรียบร้อยแล้ว  ขอเชิญพระอาจารย์ออกเดินทางได้

พุทธจี้กง : เมื่อพูดถึงว่าคนเราไม่อาจตัดสินกันด้วยรูปโฉมภายนอก ก็ทำให้นึกถึงท่านลิ่วจู่ต้าซือ  ท่านมีพุทธญาณฉับไว  แต่รูปโฉมภายนอกของท่านดูเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ไม่มีความโดดเด่นอะไร  คนที่ไม่รู้จักท่าน ก็เข้าใจผิดคิดว่าท่านเป็นเพียงคนงานที่มีกิริยาไม่สุภาพ  ยังมีฮุ่ยหมิงต้าซืออีกคนหนึ่ง  นี่ก็เหมือนกัน  มีครั้งหนึ่งวัดกุยเอวี๋ยนซื่อที่หูเป่ยนิมนต์ฮุ่ยหมิงต้าซือไปบรรยายพระสูตรคัมภีร์  คณะสงฆ์รวมถึงพุทธบริษัททั้งหลายมายืนเรียงแถวรอต้อนรับกันอยู่ 3 วัน  แต่ก็ไม่มีใครเห็นฮุ่ยหมิงต้าซือเลยแม้แต่เงา  ทุกคนต่างก็รู้สึกแปลกใจ  รอจนถึงวันที่ 4  ตอนที่ฉันภัตตาหารที่หอฉัน  อาจารย์เจ้าอาวาสที่รู้จักฮุ่ยหมิงต้าซือถึงได้มองเห็นฮุ่ยหมิงต้าซือ  ก็เลยรีบทำการต้อนรับฮุ่ยหมิงต้าซือที่หอฉันนั่นเอง  ที่แท้ฮุ่ยหมิงต้าซือมาถึงวัดกุยเอวี๋ยนซื่อก่อนล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อ 5 วันก่อนที่แล้ว  ใครเล่าจะไปรู้ ฮ่าๆ ! ต้าซือในสมัยก่อนก็หลุดพ้นเช่นนี้ อิสระเช่นนี้

ไฉ้เซิง : ฮ่าๆ ! นี่ก็คือ สัตบุรุษผู้ไม่เผยโฉมหน้า

พุทธจี้กง : ดังนั้นแล้ว  กายเนื้อตัวนี้มีดีอะไรให้วางมาดใหญ่โตล่ะ  ก็ในเมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่สิบปีก็เหลือเพียงกองกระดูก ถ้าหากไม่รีบฉวยโอกาสตอนที่ยังมีชีวิตอยู่พากเพียรบำเพ็ญศีล  สมาธิ  ปัญญา  ขจัดความโลภ  โกรธ  หลง  รอจนกระทั่งถึงตอนที่กายเนื้อนี้กลายเป็นเนินดินกองหนึ่ง  ถึงตอนนั้นจะมานึกเสียใจภายหลังก็สายเกินไปซะแล้ว

ไฉ้เซิง : แรงกรรมช่างโหดร้ายน่ากลัวยิ่งนัก

พุทธจี้กง : ศิษย์เรา ! แรงกรรมยังสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

1. กรรมร่วม กรรมร่วมก็คือแรงกรรมที่ร่วมกันทำ อะไรคือแรงกรรมที่ร่วมกันทำนะ ?  แรงกรรมที่ร่วมกันทำก็คือ แรงกรรมที่สำเร็จขึ้นจากจิตใจของผู้คนในสังคม หากจิตใจของผู้คนในสังคมมุ่งไปในทางกุศลความดี  กรรมร่วมก็จะดี ใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในโลกแห่งเอกภาพ  มีความสงบสุข ปรองดอง  เป็นสิริมงคล  หากจิตใจของผู้คนในสังคมมุ่งไปในทางอกุศลความเลว  กรรมร่วมก็จะเลวร้าย  ต้องใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในวันโลกาวินาศ  ทุกๆคนต่างตกอยู่ในอันตราย

2. กรรมของวงศ์ตระกูล  กรรมของวงศ์ตระกูลก็คือแรงกรรมของครอบครัว  หากบรรพชน พ่อ แม่ หมั่นสร้างบุญสร้างกุศลอยู่เสมอ  ลูกหลานรวมถึงคนรุ่นหลังย่อมได้รับความสุขความเจริญในภายหน้า  ถ้าหากบรรพชน พ่อ แม่ ก่อกรรมทำเข็ญอยู่เป็นนิจ  ลูกหลานและคนรุ่นต่อๆไปก็จะต้องพบเจอแต่เรื่องโชคร้าย  ไม่ค่อยได้เจอเรื่องดีๆ  ตรงกับที่กล่าวว่า “ครอบครัวที่สะสมบุญกุศลย่อมหลงเหลือบุญให้คนรุ่นหลัง  ครอบครัวที่สะสมบาปอกุศลย่อมหลงเหลือเคราะห์ภัยหายนะให้คนรุ่นต่อไป”

3. กรรมเฉพาะตัว  กรรมเฉพาะตัวก็คือกรรมที่ตัวเองสร้างขึ้น  อันเกิดจาก ใจ ปาก ความคิด การกระทำ พฤติกรรมที่เป็นการละเมิดฝ่าฝืนทำผิดบาปจะก่อให้เกิดผลที่ไม่ดีต่อตัวเองในภายหลัง  นี่ก็คือกรรมเฉพาะตัว

เอาล่ะ ถึงแดนสุขาวดีแล้ว รีบกราบคารวะบรรพจารย์จิ้งถู่เร็ว

ไฉ้เซิง : ผู้น้อยกราบคารวะท่านบรรพจารย์

บรรพจารย์ : เมธีไม่ต้องมากพิธี เชิญลุกขึ้นเถอะ

ไฉ้เซิง : ขอบคุณท่านบรรพจารย์เมตตา

บรรพจารย์ : เมธีอาศัยสถานภาพของฆราวาสผู้ไม่ออกบวชมานำพาผู้คน ให้ผู้คนรู้จักบำเพ็ญปฏิบัติธรรม  งั้นหลักธรรมของ “การบำเพ็ญโดยไม่ออกบวช  อยู่ในโลกออกจากโลก  อุบัติขึ้นในโลกเข้าสู่โลก”  เหล่านี้เมธีก็ควรจะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

ไฉ้เซิง : ครับ ขอท่านบรรพจารย์โปรดเมตตาชี้แนะเยอะๆ

บรรพจารย์ : เมธี ! ทุกๆที่ล้วนเป็นอาณาจักรธรรม  ครัวเรือนก็คืออาณาจักรธรรม  ความจริงใจก็คืออาณาจักรธรรม  ความศรัทธาจริงก็คืออาณาจักรธรรม  จิตที่ดีงามก็คืออาณาจักรธรรม  ความเชื่อมั่นก็คืออาณาจักรธรรม  ความเมตตากรุณาก็คืออาณาจักรธรรม  ขันติก็คืออาณาจักรธรรม  ดังนั้นอาณาจักรธรรมที่แท้จริงก็อยู่ภายในจิตใจของตัวเราเอง  ไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก  ผู้บำเพ็ญธรรมในปัจจุบันนี้  ถึงแม้จะอยู่ในครัวเรือน  ถ้าหากสามารถตั้งเป้าหมาย  ประพฤติตนเป็นแบบอย่าง  มีความขันติอดทนต่อเรื่องต่างๆ  อุทิศทุ่มเทเสียสละตน  ไม่โลภไม่แก่งแย่ง  ไม่ยึดไม่ละ  นี่ก็คืออาณาจักรธรรมที่อยู่ในครัวเรือน  เป็นการบำเพ็ญโดยไม่ออกบวช

ไฉ้เซิง : อะไรคือ “ไม่ยึดไม่ละ” ครับ ?

บรรพจารย์ : ไม่ยึดไม่ละ  คือสภาวะจิตสูงสุดในนิกายฌาน “ไม่ยึด” ก็คือภายในจิตใจของตนเองไม่เกิดจิตที่ละโมบ  ไม่เกิดความคิดเพ้อฝัน  ซึ่งเป็นจิตที่คิดอยากได้ไขว่คว้า  “ไม่ละ” ก็คือภายในจิตญาณเดิมไม่บังเกิดความยึดติดในอัตตา  ซึ่งการไม่ยึดติดในอัตตานี้จะต้องยึดไว้ จะสละทิ้งไปไม่ได้ นี่ก็คือ “ไม่ยึดไม่ละ”

ไฉ้เซิง : นึกไม่ถึงว่าสภาวะจิตของผู้บำเพ็ญในนิกายฌานจะล้ำลึกเช่นนี้  มิน่าล่ะ  เจตนาเดิมอันแท้จริงของนิกายฌานจึงเป็นสิ่งที่ชาวโลกยากจะเข้าใจ........ขอเรียนถามท่านบรรพจารย์ “อยู่ในโลกออกจากโลก” มีความหมายว่าอย่างไร ?

บรรพจารย์ : อยู่ในโลกออกจากโลก ก็คือ กายอยู่ในโลกโลกีย์ แต่จิตใจออกห่างจากทางโลกีย์  ไม่แปดเปื้อนโลกีย์  ตรงกับที่กล่าวว่า “เดินผ่านสวนและทุ่งดอกไม้นานา  ดอกใบแห่งบุปผาไม่สัมผัสถูกกาย” นี่ก็คือ “อยู่ในโลกออกจากโลก”

ไฉ้เซิง : ท่านบรรพจารย์โปรดเมตตาชี้แนะ อย่างไรเรียกว่า “อุบัติขึ้นในโลกเข้าสู่โลก” ?

บรรพจารย์ : อุบัติขึ้นในโลกเข้าสู่โลก “อุบัติขึ้นในโลก” ก็คือ “ใจที่อุบัติขึ้นในโลก” ใจที่อุบัติขึ้นในโลกก็คือใจธรรม  ใจพุทธะ  เมื่อมีใจธรรมใจพุทธะดวงนี้อุบัติขึ้นแล้ว  ก็ไม่อาจที่จะเสพสุขแต่เพียงผู้เดียวได้  ดังนั้นควรที่จะต้อง แผ่ขยายออกไปสู่เวไนยอย่างกว้างขวาง  ฉุดช่วยผู้มีบุญสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง  เช่น  ให้ทรัพย์เป็นทาน  ให้วิทยาธรรมเป็นทาน  ให้อภัยเป็นทาน  เข้าสู่โลกโลกีย์ปลดเปลื้องความทุกข์ยากให้แก่เวไนย นี่ก็คืองานแห่งการ “เข้าสู่โลก”  ดังนั้น “อุบัติขึ้นในโลกเข้าสู่โลก” ก็คือจิตวิญญาณแห่งการฉุดช่วยโลกของพระโพธิสัตว์ (อภัยทาน ตามความหมายในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การไม่จองเวร หรือ การสละอารมณ์โกรธให้ขาดจากใจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการสละความกล้า ความไม่กลัว ความไม่เป็นภัย แรงกายและอื่นๆด้วย)

ไฉ้เซิง : ขอบคุณท่านบรรพจารย์ที่เมตตาชี้แนะ  ผู้น้อยได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์มากมายเลย

บรรพจารย์ : อันที่จริงแล้วงานที่เมธีกำลังทำอยู่ในตอนนี้ก็คือการ “อุบัติขึ้นในโลกเข้าสู่โลก”

ไฉ้เซิง : มิกล้า ! มิกล้า ! ผู้น้อยมีความรู้ความสามารถตื้นเขิน จะกล้าทำงานที่เรียกว่า “อุบัติขึ้นในโลกเข้าสู่โลก” ได้อย่างไร

บรรพจารย์ : งานแห่งการอุบัติขึ้นในโลกเข้าสู่โลกนั้นไม่มีการแบ่งชนชั้นว่าสูงศักดิ์หรือต่ำต้อย  ขอเพียงมีใจที่จะฉุดช่วยเวไนยด้วยความจริงใจอย่างแท้จริง   ตลอดเวลาดำเนินในโพธิสัตว์จริยา  มีความเมตตากรุณา  มีขันติ  รักษาศีล  ตั้งมั่นในฌานสมาธิ  หมั่นให้ 3 ทาน  มีความวิริยะพากเพียร  นี่ก็คือฝีมือความสามารถอันแท้จริงของการอุบัติขึ้นในโลกเข้าสู่โลก   ด้วยเหตุที่พระโพธิสัตว์ฉุดช่วยเวไนย โดยไม่ถูกเวไนยล่อลวงหรือชักจูงให้ลุ่มหลง  ส่วนชาวโลกนั้นเมื่ออยู่ใกล้ชาดก็จะติดสีแดง เมื่ออยู่ใกล้หมึกก็จะติดสีดำ (เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหนหรืออยู่ใกล้กับคนประเภทใดก็จะติดเอานิสัยแบบนั้นมาด้วย) พระโพธิสัตว์กับเวไนยจึงต่างกันตรงนี้  วันนี้เมธีตั้งมหาเมตตาปณิธาน  ดังนั้นจิตญาณจึงเปล่งรัศมีออกมาอย่างไม่มีประมาณ  จากปุถุชนคนสามัญธรรมดาคนหนึ่งสามารถพัฒนาตนจนกลายเป็นนิรมาณกายแห่งโพธิสัตว์น้อย  นี่เป็นสิ่งที่ทำได้ยากและน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

ไฉ้เซิง : ท่านบรรพจารย์ให้เกียรติชมเกินไปแล้ว  ผู้น้อยจะกล้าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับพระโพธิสัตว์ได้อย่างไร  อย่างนี้ไม่เป็นการล่วงเกินดูหมิ่นเทพเซียนอริยะทั้งหลายหรอกหรือ

บรรพจารย์ : เมธี เจ้าพึงรู้ว่า เส้นเชือกเลื่อยไม้ให้ขาดได้  น้ำหยดลงหินจนหินกร่อนทะลุได้  มุ่งมั่นตั้งใจงานก็สำเร็จได้  เพราะว่าหลังจากที่เจ้าตั้งปณิธานใหญ่  เจ้าก็ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจที่มีทั้งหมดทำงานปกโปรดกล่อมเกลา  ดังนั้นความสำเร็จของเซิ่งเทียนถังในวันนี้  หากไม่ใช่ว่าเจ้ามีแรงปณิธาน  เกรงว่าป่านนี้เจ้าคงหลบอยู่แต่ในร้านค้าในตลาดไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวทางโลกแล้ว

ไฉ้เซิง : ท่านบรรพจารย์มีอภิญญายิ่งใหญ่ไพศาล  ความคิดของผู้น้อยไม่สามารถหลบซ่อนจักษุปัญญาของท่านบรรพจารย์ได้เลย

บรรพจารย์ : เมธี เจ้าควรรู้ว่าการบำเพ็ญธรรมอาศัยพลังใดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ไฉ้เซิง : พลังอะไรครับ ?

บรรพจารย์ : พลังแห่งมหาปณิธานที่บังเกิดออกมาจากภายในจิตใจก็คือพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ไฉ้เซิง : เพราะอะไรครับ ?

บรรพจารย์ : เพราะว่าถ้าหากคนๆหนึ่งบังเกิดมหาปณิธานออกมาจากภายในจิตใจ  เขาย่อมที่จะต้องจดจำไว้ในใจตลอดเวลาไม่กล้าลืมเลือน  นี่ก็คือพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการบำเพ็ญธรรม  ก็เหมือนอย่างเช่นพระโพธิสัตว์กวนอินมีมหาปณิธานที่จะฉุดช่วยเวไนย ดังนั้นจึงมีผลสำเร็จในวันนี้  ถ้าหากว่าในตอนเริ่มแรกที่พระโพธิสัตว์กวนอินบำเพ็ญปฏิบัติธรรมไม่มีมหาปณิธานที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้  ก็จะไม่สามารถมีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ให้เห็นจริงอย่างทุกวันนี้ ที่ทุกๆบ้านต่างรู้จักและกราบไหว้บูชาพระโพธิสัตว์กวนอิน  ก็เหมือนอย่างเช่นพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ที่มีมหาปณิธานว่า หากนรกไม่ว่างจะไม่สำเร็จเป็นพุทธะ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสำเร็จเป็นพระมหาศาสดาแห่งแดนนรกภูมิ ก็เหมือนอย่างเช่นเสวียนจั้งต้าซือที่ตั้งคำสัตย์ปฏิญาณ ตัดสินใจเดินทางมุ่งหน้าไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่ชมพูทวีป และสามารถทำภารกิจได้สำเร็จ  ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนเป็นเพราะพวกท่านมีมหาปณิธานจิตอันมั่นคงยืนหยัด ไม่ย่อท้อ ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นพลังผลักดันอยู่เบื้องหลัง  ทำให้พวกท่านมีความวิริยะพากเพียร คอยกระตุ้นเตือนตัวเอง  ดังนั้นการสวดพุทธนามเพื่อมาเกิดแดนสุขาวดีก็เช่นเดียวกัน  จำเป็นต้องบังเกิดปณิธานจิต  ปรารถนาที่จะมาเกิดแดนสุขาวดี  จิตหนึ่งใจเดียวไม่เปลี่ยนแปลง  หากมีปณิธานจิตที่ศรัทธาจริงใจเช่นนี้  การมาเกิดแดนสุขาวดีก็ย่อมสมหวังได้

ไฉ้เซิง : ขอบคุณท่านบรรพจารย์ที่อบรมสั่งสอน  ผู้น้อยได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์มากมายเลย

พุทธจี้กง : วันนี้ดึกแล้ว  ศิษย์เรารีบกราบลาท่านบรรพจารย์จิ้งถู่เถอะ  เตรียมกลับสำนักกัน

ไฉ้เซิง : ผู้น้อยกราบลาท่านบรรพจารย์

บรรพจารย์ : เมธีไม่ต้องมากพิธี  รีบลุกขึ้นเถอะ

ไฉ้เซิง : ศิษย์นั่งบัลลังก์บัวเรียบร้อยแล้ว  ขอเชิญพระอาจารย์ออกเดินทางได้

พุทธจี้กง : ถึงเซิ่งเทียนถังแล้ว  ไฉ้เซิงลงจากบัลลังก์บัว  วิญญาณกลับเข้าร่าง


More Posts