ครั้งที่ 11 พระอรหันต์เล่าถึงความพากเพียรบากบั่นในการบำเพ็ญปฏิบัติ

2024-09-15 08:19:59 - mindcyber

ปีเจี๋ยจื่อ เดือน 4  วันที่ 18  ค.ศ.1984 (ตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2527)พระพุทธจี้กง ประทับทิพยญาณ

น้ำค้างแข็ง อันหนาวเหน็บ พาให้ใจ นั้นเหน็บหนาว

ผู้รักเกียรติ นั้นหาญห้าว สู้ต่อไป ไม่กลัวแม้ จะอับจน

แมงมุมแม้ ใยจะขาด สักกี่ครั้ง ยังสร้างใหม่ แสนอดทน

อยากพ้นความ ปุถุชน ต้องอดทน อย่างแมงมุม

 

พุทธจี้กง : แมงมุมไม่สามารถเฝ้าระวังรักษาตาข่ายที่มันสร้างขึ้นมาให้คงอยู่ตลอดไปตราบชั่วชีวิตของมันได้  มันจะต้องเผชิญกับลมฝนและอุปสรรคความลำบากต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอยู่ตลอดอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นตลอดชีวิตของมันจะต้องพบเจอกับการทดสอบ  ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากและประสบกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า  เกิดเป็นคนอยู่บนโลกนี้ก็เช่นกัน  จะต้องผ่านการทดสอบทีละขั้นๆจึงสามารถประสบความสำเร็จ  ความสำเร็จประเภทนี้จึงเป็นความสำเร็จที่แท้จริง  เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามีความหมาย  และเป็นสิ่งที่หวานชื่น  หากไม่ใช่ความสำเร็จที่ได้มาจากความพากเพียรบากบั่น  นั่นเป็นความสำเร็จจอมปลอม  เป็นของเก๊  เป็นความสำเร็จเพียงช่วงสั้นๆไม่ยืนยาว  เป็นความฟลุคโชคดีโดยบังเอิญ

ไฉ้เซิง : คำพูดของพระอาจารย์ เป็นการให้กำลังใจชาวโลกว่าจะต้องเลียนแบบจิตวิญญาณของแมงมุม คือมีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อและต้องสู้ต่อไปอย่าได้หยุดยั้ง

พุทธจี้กง : การบำเพ็ญธรรมก็เช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการบำเพ็ญปฏิบัติ   หรือในด้านของสภาพแวดล้อมก็ตาม  มีหลายครั้งที่ต้องพบเจอกับความสิ้นหวัง  ก็เหมือนกับแมลงปอที่บินหลงเข้าไปติดอยู่ในห้อง  แล้วไม่สามารถบินออกมาจากในห้องได้  บินหาทางออกเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ  แต่ว่าขอเพียงแค่สงบใจคิดใคร่ครวญอย่างสุขุม  จะต้องสามารถมองเห็นช่องว่างที่มีแสงสว่างลอดผ่านเข้ามาให้บินออกไปได้อย่างแน่นอน

ไฉ้เซิง : เหมือนกับ “ถึงปลายสุดของภูเขาและสายน้ำ เห็นทีว่าข้างหน้านั้นไม่มีทางให้ไปต่อ หลิวเขียวครึ้มดอกไม้งามบานสะพรั่ง แท้เบื้องหน้ามีหมู่บ้านคนอาศัย” (หมายถึงจุดหักเหของความยากลำบาก ตอนที่กำลังลำบากกลับได้พบความหวัง)

พุทธจี้กง : ฮ่าๆ ! ตอนนี้มีผู้บำเพ็ญธรรมมากมายที่คิดว่าตัวเองกำลังเดินเข้าสู่ทางตัน

ไฉ้เซิง : ถ้าอย่างนั้นการประพันธ์หนังสือท่องแดนสุขาวดีเล่มนี้ก็คือแสงแห่งความหวัง 

พุทธจี้กง : ถูกต้อง ! ถูกต้อง ! พวกเราออกเดินทางกันเถอะ !

ไฉ้เซิง : ครับ ! ศิษย์นั่งบัลลังก์บัวเรียบร้อยแล้ว ขอเชิญพระอาจารย์ออกเดินทางได้

พุทธจี้กง : ฮ่าๆ !  พระโพธิสัตว์มารอรับอยู่เบื้องหน้าแล้ว  ศิษย์เราเจ้ารีบกราบคารวะเร็ว

ไฉ้เซิง : ผู้น้อยกราบคารวะพระโพธิสัตว์

โพธิสัตว์ : เมธีไม่ต้องมากพิธี ลุกขึ้นเถอะ

ไฉ้เซิง : ขอบคุณพระโพธิสัตว์เมตตา

โพธิสัตว์ : เมธีรีบตามเรามาเถอะ

ไฉ้เซิง : ครับ

โพธิสัตว์ : วันนี้เราจะแนะนำพระอรหันตสาวกท่านหนึ่งที่มีจิตใจมุ่งมั่นในการสวดพุทธนามให้เจ้าได้รู้จัก  เจ้าสามารถขอคำแนะนำจากเขาได้ว่าเขาบำเพ็ญปฏิบัติอย่างไร

ไฉ้เซิง : ครับ

โพธิสัตว์ : อรหันต์เหลียนเกิน มานี่เร็ว (พระโพธิสัตว์เรียกพระอรหันต์รูปหนึ่งที่กำลังขบคิดปริศนาธรรมอยู่ในป่า)

ไฉ้เซิง : ผู้น้อยคารวะท่านอรหันต์

อรหันต์ : เมธีไม่ต้องมากพิธี

ไฉ้เซิง : ผู้น้อยได้รับพระโองการให้ประพันธ์หนังสือท่องแดนสุขาวดี  วันนี้จึงสามารถได้พบกับท่านอรหันต์  ได้เห็นท่านอรหันต์อยู่ที่นี่มีความอิสระเสรี  ช่างน่าอิจฉาจริงๆ

อรหันต์ : จะทุกข์ก่อนแล้วค่อยสุข  หรือสุขก่อนแล้วค่อยทุกข์  ก็ต้องเป็นไปตามเหตุต้นผลกรรมและเหตุปัจจัย  ไม่สามารถเป็นไปตามใจคนได้  หากใฝ่หาแดนสุขาวดีพุทธเกษตร  ขอเพียงแค่มีความเชื่อมั่น  มีปณิธาน  และสวดพุทธนามเพียงเท่านี้  ก็ไม่ขอสิ่งอื่นใด

ไฉ้เซิง : ไม่ทราบว่าตอนที่ท่านอรหันต์มีชีวิตอยู่ ท่านบำเพ็ญปฏิบัติอย่างไร  วันนี้จึงสามารถมาอยู่ที่นี่ได้

อรหันต์ : พูดไปเรื่องมันยาว  เดิมทีอาตมาก็บำเพ็ญฝึกฝนในธรรมวิถีอื่นมาก่อน  ต่อมาภายหลังมีผู้ทรงคุณธรรมและสติปัญญาชี้แนะอาตมาว่า ธรรมวิถีแห่งการสวดพุทธนามเป็นวิธีบำเพ็ญปฏิบัติที่เป็นทางลัดตรงที่สุด  นอกจากธรรมวิถีนี้ก็ไม่มีธรรมวิถีอื่นใดที่จะดียิ่งไปกว่าธรรมวิถีนี้อีกแล้ว  หลังจากนั้นอาตมาก็ตัดสินใจอย่างแน่วแน่  มุ่งมั่นสวดพุทธนาม  แต่เพราะเกรงว่าความศรัทธาและปณิธานความมุ่งมั่นของตัวเองจะไม่ยืนหยัดมั่นคง  ดังนั้นจึงประกาศปณิธานด้วยจิตศรัทธาอันเป็นที่สุดแห่งใจต่อหน้าองค์พระปฏิมาของพระอมิตาภพุทธเจ้า  พร้อมทั้งเผานิ้วมือของตัวเอง 3 นิ้วเพื่อแสดงถึง ความศรัทธาจริง  ปณิธานจริง  และการดำเนินปฏิบัติจริง  วอนขอพระอมิตาภพุทธเจ้าเมตตาอนุเคราะห์  โดยอาตมาได้กล่าวต่อองค์พระปฏิมาของพระอมิตาภพุทธเจ้าว่า “ข้าพเจ้าเหลียนเกิน  นับตั้งแต่กาลเวลาอันปราศจากจุดเริ่มต้นเป็นต้นมา  ได้ก่อ อกุศลกรรมบถ 10 และมิจฉัตตะ 8 ไว้มากมาย จนพูดบรรยายได้ไม่หมดสิ้น  ตอนนี้แม้ได้เกิดกายเป็นมนุษย์  แต่ทุกความคิดยังไม่สามารถตัดขาดจากโลภ โกรธ หลง รัก ต่อไปภายหน้าจะต้องตกสู่การเวียนว่ายได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานแสนสาหัสอย่างแน่นอน  บัดนี้ข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บปวดเสียใจเป็นอย่างยิ่ง  ขอสำนึกบาปที่ได้กระทำมา  นับจากนี้เป็นต้นไปจะมุ่งมั่นแน่วแน่สวดพุทธนาม  แม้ฟ้าดินสิ้นสลายแต่ปณิธานของข้าพเจ้าไม่สิ้นสุด  ขอวิงวอนพระอมิตาภพุทธเจ้าช่วยปกปักคุ้มครองให้จิตญาณของข้าพเจ้าไม่เขลาหลงและไม่ขาดต่อการสวดพุทธนาม  ภายหน้ายามสิ้นลมขอให้ได้พบพระพุทธะโพธิสัตว์ทั้งหลายมารับไปเกิดแดนสุขาวดี”  จากนั้นอาตมาก็ตั้งใจสวดพุทธนามเรื่อยมา  แต่เป็นเพราะอาตมามีกัมมาวรณ์หนัก  ดังนั้นจึงไม่ได้เกิดในบัวชั้นบนระดับบน  เพียงแค่ได้เกิดในบัวชั้นกลางระดับบน  แม้ว่าจะวอนขอให้ได้เกิดในแดนสุขาวดี ได้พบพระอมิตาภพุทธเจ้า ได้สดับฟังพุทธธรรมจากพระอมิตาภพุทธเจ้า  แต่ก็ได้เพียงแค่ประจักษ์ในมรรคผลระดับเล็กไปก่อน  แต่หลังจากที่ได้มาถึงที่นี่แล้วรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมในการบำเพ็ญปฏิบัติของที่นี่ดีกว่าที่โลกมนุษย์มากมายนัก  เพราะว่าอยู่ที่นี่  ทุกๆวันหูก็ได้ฟังเสียงพุทธธรรม  จมูกก็ได้ดมกลิ่นที่หอมสะอาด  ปากก็ได้ดื่มกินน้ำแปดกุศล  ตาก็ได้มองเห็นโลกธาตุที่สง่างามยิ่งใหญ่  เพื่อนที่คบหากันก็ล้วนแล้วแต่เป็นพระโพธิสัตว์ อรหันต์ และระดับสัตบุรุษขึ้นไป  เสียงพุทธธรรมแพร่กระจายไปทั่ว  มีนกน้ำแสดงธรรม  อิสระเสรีไม่มีที่สิ้นสุด  อายุขัยไร้ขอบเขตประมาณ

ไฉ้เซิง : ขอเรียนถามท่านอรหันต์  เหตุใดอายุขัยจึงไร้ขอบเขตประมาณ

อรหันต์ : นั่นเพราะก่อนที่พระอมิตาภพุทธเจ้าจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ตั้งมหาปณิธานไว้ 48 ข้อ แล้วมีอยู่ข้อหนึ่งคือข้อที่ 15  พระอมิตาภพุทธเจ้าได้ตั้งปณิธานไว้ว่า  เมื่อข้าพเจ้าตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  ผู้ที่มาเกิดในพุทธเกษตรของข้าพเจ้าจะมีอายุขัยยืนยาวไร้ขอบเขตประมาณ  ดังนั้นคนที่มาเกิดที่นี่จึงล้วนแล้วแต่เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ไม่ถดถอย  นอกเสียจากว่าพวกเขาจะมีแรงปณิธานปรารถนาที่จะไปฉุดช่วยคน  ส่งเสริมเผยแพร่ธรรมให้เจริญรุ่งเรืองในโลกธาตุอื่น  จึงไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้  แล้วเมธีก็คือหนึ่งในนั้น

ไฉ้เซิง : มิกล้า ! มิกล้า ! ผู้น้อยเป็นคนบาปหนา

อรหันต์ : เมธีมีความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง  ใช้ร่างกายของตัวเองเป็นบันไดให้เวไนยขึ้นสู่ฟ้า  ใช้จิตใจของตัวเองเป็นสะพานเชื่อม 3 ศาสนา  มีจิตวิญญาณแห่งการทุ่มเทเสียสละอุทิศตน  ทำให้อาตมารู้สึกละอายใจที่ไม่สามารถทำได้อย่างท่าน  ดังนั้นท่านอย่าได้ถ่อมตนเลย

ไฉ้เซิง : ท่านอรหันต์ให้เกียรติชมเกินไปแล้ว  ผู้น้อยแค่คนธรรมดา  ไหนเลยจะคู่ควรกับคำชม (เมื่อไฉ้เซิงพูดถึงตรงนี้น้ำตาก็ไหลพราก  ตาทิพย์ของเรามองเห็นสภาพเหตุการณ์เช่นนี้ก็ทำให้อิทธิฤทธิ์ค่อยๆตก  ไม่รู้จะเขียนต่อไปอย่างไร...)

อรหันต์ : เมธีอย่าได้โศกเศร้าเสียใจเลย  น้ำตาแต่ละหยดของท่านจะแปรเปลี่ยนเป็นดอกบัวแต่ละดอก

(ตอนนี้ไฉ้เซิงฝืนยิ้มออกมา  แต่ว่าใครจะเข้าใจจิตใจของเขาว่าเขาร้องไห้เพื่อใคร)

ไฉ้เซิง : เมื่อครู่นี้ผู้น้อยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้  ขอท่านอรหันต์โปรดให้อภัยด้วย

อรหันต์ : ไม่เป็นไรหรอกเมธี

โพธิสัตว์ : เมธี ! เหตุใดวันนี้เจ้าจึงร้องไห้ ?

ไฉ้เซิง : ผู้น้อยรู้สึกว่าตัวเองมีกัมมาวรณ์หนัก  แต่ต้องแบกรับภาระใหญ่ในการปกโปรดกล่อมเกลา  อุปสรรคที่มาขัดขวางช่างมากมายเหลือเกิน  ดังนั้นจึงควบคุมตัวเองไม่ได้   ร้องไห้ออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ

โพธิสัตว์ : เมธี ! ลูกผู้ชายไม่ร้องไห้ง่ายๆ  เจ้ามีปณิธานใหญ่ฉุดช่วยชาวโลก  ดังนั้นตลอดชีวิตของเจ้าจะต้องลิ้มรสของความเหน็ดเหนื่อย  ความเจ็บปวดรวดร้าว  ความทุกข์ยากลำบาก  ความโหดร้าย  เพื่อชาวโลก  บ่อยครั้งที่เจ้าต้องปล่อยวางความสัมพันธ์ส่วนตัว  เราเข้าใจ  เจ้าอย่าโศกเศร้าไปเลย

ไฉ้เซิง : ขอพระโพธิสัตว์โปรดให้อภัย  เป็นเพราะพลังสมาธิของผู้น้อยยังไม่ดีพอ  ดังนั้นจึงไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

โพธิสัตว์ : เมธีถ่อมตนเกินไปแล้ว  เอาล่ะวันนี้ก็พอเท่านี้แล้วกัน

(ตอนนี้พระพุทธจี้กงมาถึง  ไฉ้เซิงนั่งบนบัลลังก์บัวเรียบร้อย  เตรียมออกเดินทาง)

พุทธจี้กง : ศิษย์เรา ! เจ้าเอาความเจ็บปวดทุกข์ใจของเจ้าไปโยนใส่จิตใจของเวไนยอย่างนี้ไม่ถูกต้องนะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้กำลังประพันธ์หนังสืออยู่  เจ้าไม่สามารถทำจิตใจให้สงบ  อย่างนี้ไม่ถูกต้อง  เจ้าควรเก็บฝีเท้าให้เงียบ  โน้มนำชาวโลกขึ้นฝั่งแห่งหลักสัจธรรม  เอาธรรมสมบัติอันล้ำค่าของเจ้ามอบเป็นทานให้แก่คนที่ต้องการธรรมสมบัติอันล้ำค่า  ให้ผู้อื่นได้รับอาหารแห่งจิตญาณ  ถึงแม้จะต้องสละชีวิตของตัวเองก็ตาม  แต่นี่ก็คือผู้กล้าที่เผยแพร่หลักสัจธรรม  หลายปีมานี้เพื่องานธรรมแล้ว  เจ้ายอมสละกิจการทางโลก  เพื่อชาวโลกแล้วเจ้ายอมสละได้แม้ชีวิต  ถึงแม้เจ้าจะเลียนแบบจิตวิญญาณของต้าอวี่ที่ดูแลบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม  แต่ก็ควรศึกษาเลียนแบบความอิสระหลุดพ้นของพระพุทธะด้วย  มิฉะนั้นแล้ว อาศัยเพียงแค่มีแรงใจที่มุ่งมั่นเพียงเท่านั้นยังไม่พอ  อาศัยเพียงแค่พลังที่มีรูปลักษณ์ย่อมมีขีดจำกัด  ด้วยเหตุนี้เจ้าควรอาศัยพลังขับเคลื่อนอันไร้รูปลักษณ์ซึ่งเป็นนิรันดร์มาเป็นเสาค้ำให้กับเจ้า  อย่ากลัวว่าจะถูกคนอื่นใส่ร้ายป้ายสีจนเกิดความเศร้าเสียใจ  และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำเพื่อให้ผู้อื่นมายกย่องชมเชยจึงเกิดความปลื้มปีติ  เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ใช่ของจริงและเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น  ศิษย์เรา ! เรื่องราวต่างๆบนโลกนี้ไม่มีเรื่องอะไรที่สมบูรณ์ไปหมดทุกอย่างหรอก  เจ้าไม่จำเป็นต้องตั้งความคาดหวังให้สูงจนเกินไป  แล้วก็อย่าคาดหวังว่าคนอื่นๆทุกๆคนจะต้องคล้อยตามปณิธานความมุ่งมั่นของเจ้า  เจ้าควรเป็นเหมือนดั่งพื้นที่ว่างของหุบเขาที่สามารถจุรับผู้คนได้  เป็นดั่งความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรที่สามารถรองรับแม่น้ำทุกสายที่ไหลมารวมกันได้  อย่าเป็นเหมือนกับโต๊ะตัวหนึ่งที่ใช้วางของได้เพียงแค่นิดๆหน่อยๆ  แล้วก็อย่าเป็นเหมือนกับเก้าอี้ที่นั่งได้เพียงแค่คนเดียว  เพราะสำหรับคนที่แพร่ประกาศหลักสัจธรรมกล่อมเกลาสั่งสอนผู้คนนั้น  จิตใจเช่นนี้ยังไม่กว้างพอ  ศิษย์เรา ! การเป็นคนแพร่ประกาศหลักสัจธรรมคนหนึ่งไม่ใช่ว่าจะไม่มีความกลัดกลุ้ม  แต่ควรมองความกลัดกลุ้มเหล่านั้นแบบปล่อยวาง  แบกรับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ไม่ใช่ว่าจะไม่เจอเรื่องที่ทำให้รู้สึกโกรธแค้น  แต่ต้องสามารถมองความโกรธแค้นให้เป็นความว่าง  หากเจ้าสามารถทำได้เช่นนี้  เจ้าจึงเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ  ศิษย์เรา ! อาจารย์ขอร้องเจ้าในฐานะของอาจารย์  อาจารย์รู้ว่าทำอย่างนี้เป็นการเข้มงวดเกินไป  เจ้าอาจจะน้อยใจอาจารย์  แต่หวังว่าเจ้าจะสามารถมอบความรักให้กับชาวโลกอย่างกว้างขวาง  นี่ก็คือคำพูดของอาจารย์

ไฉ้เซิง : ที่พระอาจารย์พูดมา ทุกคำพูด ทุกประโยค ตราตรึงอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ฝังลึกอยู่ในดวงจิต ศิษย์จะจารึกไว้ในใจตลอดไปไม่ลืมเลือน

พุทธจี้กง : เอาล่ะ เวลาล่วงเลยมามากแล้ว อาจารย์ขอกลับก่อน

ไฉ้เซิง : ศิษย์น้อมส่งพระอาจารย์

 

 

 

 

 

อธิบายคำศัพท์

 

อกุศลกรรมบถ 10

อกุศลกรรมบถ 10 (ทางแห่งอกุศลกรรม, ทางทำความชั่ว, กรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์ หรือทุคติ) แบ่งเป็นกายกรรม 3 วจีกรรม 4 และมโนกรรม 3

กายกรรม 3 ได้แก่ การฆ่า  ลักขโมย  ประพฤติผิดในกาม

วจีกรรม 4 ได้แก่  การพูดเท็จ  พูดยุแยงให้คนแตกแยก พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ

มโนกรรม 3 ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง

 

มิจฉัตตะ 8

มิจฉัตตะ 8 (ภาวะที่ผิด, ความเป็นสิ่งที่ผิด ตรงข้ามกับมรรคมีองค์ 8)

1. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด ได้แก่ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมตามหลักกุศลกรรมบถ และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์)

2. มิจฉาสังกัปปะ (คิดผิด ได้แก่ ความคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ตรงข้ามจากสัมมาสังกัปปะ)

3. มิจฉาวาจา (วาจาผิด ได้แก่ วจีทุจริต 4)

4. มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด ได้แก่ กายทุจริต 3)

5. มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด ได้แก่ เลี้ยงชีวิตในทางทุจริต)

6. มิจฉาวายามะ (พยายามผิด ได้แก่ ความเพียรที่ตรงกันข้ามกับสัมมาวายามะ)

7. มิจฉาสติ (ระลึกผิด ได้แก่ ความระลึกถึงเรื่องราวที่ล่วงแล้ว เช่น ระลึกถึงการได้ทรัพย์ การได้ยศ เป็นต้น ในทางอกุศล อันจัดเป็นสติเทียม เป็นเหตุชักนำใจให้เกิดกิเลสมีโลภะ มานะ อิสสา มัจฉริยะ เป็นต้น)

8. มิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตผิด ได้แก่ ตั้งจิตเพ่งเล็ง จดจ่อปักใจแน่วแน่ในกามราคะ พยาบาท เป็นต้น หรือเจริญสมาธิแล้ว หลงเพลิน ติดหมกมุ่น ตลอดจนนำไปใช้ผิดทาง ไม่เป็นไปเพื่อญาณทัศนะ และความหลุดพ้น)


More Posts